ปัจจุบันบริษัทจำนวนมากได้รวมขั้นตอนการวิเคราะห์สถานการณ์-สภาวะแวดล้อมในตลาด จากปัจจัยภายในและภายนอกเข้ามาอยู่ในขั้นตอนการวางแผนกลยุทธ์ โดยวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ คือ การทำ PESTEL Analysis เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกจาก 6 ด้าน ได้แก่ Political, Economic, Social, Technological, Environmental, และ Legal เพื่อนำมาช่วยประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานโครงการธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนการวางแผนเพื่อพัฒนานำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ ๆ ก่อนที่จะเข้าไปแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้น ๆ
“PESTEL” คือ Framework ที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกองค์กร โดยเน้นไปที่สภาวะแวดล้อมระดับมหภาค (Macro Environment) วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ประกอบไปด้วยปัจจัย 6 ด้าน ได้แก่ Politics, Economic, Sociological, Technological, Environmental, และ Legal ซึ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องการวิเคราะห์ให้ลึก เมื่อวิเคราะห์ PESTEL แล้วก็สามารถวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมระดับจุลภาค (Micro-Environment) ปัจจัยทางตรงที่กระทบต่อการดำเนินงานของแต่ละองค์กร ด้วย Porter’s Five Forces Analysis ที่พัฒนาต่อไปเป็น Six Forces Framework ยอดนิยมสำหรับการวิเคราะห์ Micro- Environment
ในปี 1967 Francis J. Aguilar ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย Harvard ผู้คิดค้น PEST ต้องการเครื่องมือที่ช่วยแสดงผลการวิเคราะห์แก่กลุ่มธุรกิจ จึงได้ออกแบบ Framework เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก (Macro Environment) ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมธุรกิจ โดย Framework ตัวนี้เผยแพร่ครั้งแรกในบทความ Scanning the business environment ด้วยชื่อ ETPS ที่ลำดับตัวอักษรแตกต่างจาก PEST เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี หลักการของทฤษฎีนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย และพัฒนาจนเป็น PESTEL ในที่สุด
ปัจจัยด้านการเมืองเป็นการพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรและอุตสาหกรรม ทั้งการบริหารงาน นโยบาย งบประมาณการลงทุน ตลอดจนการควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง โดยปัจจัยด้านการเมืองนี้สามารถเป็นได้ตั้งแต่นโยบายทางการคลัง, การเก็บภาษี, นโยบายการค้าระหว่างประเทศ, นโยบายด้านแรงงาน, นโยบายบำเหน็จบำนาญ, การบำรุงพัฒนาผังเมือง, การดูแลส่งเสริมด้านสาธารณสุข, การศึกษา, เทคโนโลยี, สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ จะเห็นได้ว่าปัจจัยทางการเมืองนั้นส่งผลกระทบครอบคลุมเป็นวงกว้าง เพราะฉะนั้น ทีมผู้วิเคราะห์จึงต้องเข้าใจถึงวิถีของการเมืองการปกครองในตลาดและพื้นที่นั้น ๆ ที่ประกอบธุรกิจ เพื่อการประเมินและคาดการณ์สถานการณ์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ คือ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของเศรษฐกิจประชาชาติ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำไรของบริษัท เช่น อัตราดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ, อัตราเงินเฟ้อ, ราคาต้นทุน-วัตถุดิบ เป็นต้น รวมไปถึงปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทในทางอ้อม เช่น อัตราการจ้างงาน-อัตราการว่างงาน, ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ, รายได้ประชาชาติ, การกระจายตัวของรายได้, แนวโน้มการลงทุน, ดัชนีหุ้น, ภาวะการเติบโตของอุตสาหกรรม, การเติบโตของตลาดใหม่, เงินดิจิทัล, ความอิ่มตัวของตลาด, กำลังซื้อของประชากรในแต่ละพื้นที่, ค่าครองชีพ, ค่าใช้จ่ายบุคคลและครัวเรือน เป็นต้น
ปัจจัยทางสังคม หมายถึงปัจจัยใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อค่านิยม บรรทัดฐาน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในสังคม ปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์สามารถเป็นได้ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรศาสตร์ (Demographic change), การเติบโตของประชากร (Population Growth), การย้ายถิ่นฐาน (Geographical Migration of the Population), ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค (Regional Disparities), แนวโน้มของกระแสในสังคม (Trend), ทัศนคติ (Attitude), ความเชื่อ (Believe), ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี (Cultural), ศีลธรรม (Moral), คุณค่าที่เป็นที่ยอมรับในสังคม, ความยุติธรรม, ความสมานฉันท์, การแบ่งแยกในสังคม, ความขัดแย้งต่างๆ
ปัจจัยด้านเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการแข่งขันขององค์กร โดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อองค์กร ตั้งแต่เรื่องสิทธิบัตร, อายุของเทคโนโลยี, อัตราการเกิดนวัตกรรม, นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์, นวัตกรรมด้านกระบวนการ, เวลาในการพัฒนา, ค่าใช้จ่ายในงานวิจัยและพัฒนา, ภัยคุกคามจากดิจิทัล, ไวรัสคอมพิวเตอร์, การบูรณาการเทคโนโลยีอย่างเทคโนโลยีการย่อขนาด, เทคโนโลยีดิจิทัล, อุปกรณ์จักรกลอัตโนมัติ ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ AI (Artificial Intelligence)
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม คือ การพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติทั้งหมด ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ, การเพิ่มขึ้นของมลพิษ, น้ำเน่าเสีย, การสูญพันธุ์ของสัตว์ทั่วโลก, การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น, ภัยธรรมชาติต่าง ๆ อย่างภัยแล้ง, น้ำท่วม, ภูเขาไฟระเบิด รวมไปถึงโรคระบาดต่าง ๆ ดังนั้นองค์กรจึงต้องคำถึงการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) การบริหารทรัพยากร การผลิตและการขนส่ง (Supply Chain Management) การลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) เพื่อมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนทั้งในเชิงธุรกิจและสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยด้านกฎหมาย เป็นการพิจารณาถึงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น สิทธิพลเมือง (Civil Rights), กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law), กฎหมายภาษี (Tax Law), ข้อตกลงระหว่างพรมแดน (Border Agreement), สิทธิบัตร (Patent Rights) , การรับผิดชอบต่อสินค้า (Product Liability), กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection), การคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) รวมไปถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) และกฎหมาย PDPA
ในขั้นตอนการวางกลยุทธ์ขององค์กร การวางแผนงานศึกษาตลาดนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทีมงานจึงต้องเข้าใจการเลือกใช้เครื่องมือที่จะนำมาช่วยวิเคราะห์ เข้าใจตัวแปรที่มีความสำคัญต่อเป้าหมายโครงการ ซึ่งการเลือกเครื่องมือจะง่ายยิ่งขึ้นหากองค์กรได้ทำเกณฑ์ในการวัดผลเอาไว้
สำหรับ PESTEL โดยทั่วไปแล้วองค์กรจะนำมาใช้ทุก ๆ ครึ่งปี เพื่อเป็นการสำรวจสภาพแวดล้อมภายนอกและตรวจสอบแผนงานในธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งแต่ละองค์กรจะได้รับผลกระทบจากแต่ละปัจจัยมากน้อยอย่างไรนั้นก็ต่างกันไปในแต่ละขนาดและกลุ่มอุตสาหกรรม
ในการศึกษาปัจจัยภายนอกระดับมหภาคที่มีผลต่อองค์กร หัวหน้าและทีมงานอาจวางขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้
หากต้องการลำดับถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรจากสภาพแวดล้อมภายนอก สามารถเลือกใช้ PESTEL คู่กับ Impact Matrix เครื่องมือที่ช่วยลำดับผลกระทบ ด้วยการใช้ตัวแปร 2 ตัว คือ ผลกระทบ (Impact) และ ช่วงเวลาที่จะเกิดขึ้น (Time Horizon) โดยเริ่มต้นจากวิเคราะห์ PESTEL ก่อน แล้วนำปัจจัยต่าง ๆ มาประเมินบน Impact Matrix และนำผลวิเคราะห์ไปช่วยกำหนดกลยุทธ์ วางแผนการดำเนินงานงานองค์กร เพื่อเป็นการจัดลำดับความสำคัญ ควรจะต้องทำอะไรก่อน-หลัง
นอกจากนี้ ในการทำ PESTEL ทีมวิเคราะห์ยังสามารถช่วยกันตั้งคำถามถึงประเด็นต่าง ๆ เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ทั้งผลกระทบและแนวทางที่องค์กรสามารถปฏิบัติได้ เช่น
จะเห็นได้ว่า PESTEL Analysis เป็น Framework วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกที่ธุรกิจเข้าไปแข่งขันได้อย่างรอบด้าน ซึ่งถ้าจะให้ดีมากขึ้น องค์กรควรวิเคราะห์ลงลึกในระดับธุรกิจต่อด้วยการศึกษา Micro Environment คู่กับการทำ Six Forces Analysis เพื่อเข้าใจถึงปัจจัยในการแข่งขัน ระดับความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรโดยตรง และเลือกกลยุทธ์แข่งขันได้อย่างถูกต้อง