คำถามเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นความใฝ่รู้ และเติมเต็มความสงสัยใคร่รู้เมื่อได้ทราบคำตอบ ดังนั้น การออกแบบคำถามที่ดีจะช่วยให้อีกฝ่ายได้นึกถึงสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ได้ออกจากกรอบ ได้ฉุกคิดถึงสิ่งใหม่ สามารถไปต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติมได้ โดยศาสตร์ของการตั้งคำถาม Research Questions นั้น สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราทุกคนได้หลากหลาย ตั้งแต่การปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือใช้ในการทำงาน การสอน หรือการเรียนรู้ รวมไปถึงใช้เพิ่มพลังบวกให้กับคู่สนทนาได้ ซึ่งคำตอบที่ได้จะออกมาแบบไหน ขึ้นอยู่กับคำถามที่ใช้เพื่อชักนำให้คู่สนทนาไปสู่มุมมองที่เราต้องการให้เขานึกถึงนั้นเอง
สำหรับนักวิจัยแล้ว คำถามในงานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นองค์ประกอบหลักที่จะกำหนดทิศทาง และ/หรือ ผลลัพธ์ของงานวิจัยได้เลยทีเดียว ซึ่งในหลายครั้ง ประสบการณ์หรือความเก๋าเกมของผู้ถาม หรือผู้สัมภาษณ์ก็มีผลมากต่อคุณภาพของงานด้วยเช่นกัน
จากบทที่กล่าวมาข้างต้น เราได้ทราบถึงคุณสมบัติของ ‘คำถามที่ดี’ แล้ว ในขั้นตอนต่อไปเราจะมาชี้ให้เห็นถึงวิธีการตั้งคำถามวิจัยให้มีคุณภาพ โดยมีรายละเอียดแบบออกเป็น 5 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ
ก่อนที่จะตั้งคำถามวิจัย เราต้องรู้ก่อนว่า เราทำการศึกษาวิจัยนี้ขึ้นเพื่ออะไร ต้องการใช้เพื่อไปทำกลยุทธ์แบรนด์ กลยุทธ์การตลาด ต้องการจะพัฒนาสินค้า บริการ หรือต้องการจะทดสอบสินค้า ประเมินผลงาน ซึ่งเมื่อเราวางเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ชัดเจนแล้ว ก็เริ่มขั้นตอนต่อไปได้เลย
ขั้นตอนนี้จะช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนในประเด็นหัวข้อที่เราสนใจว่ามีอะไรเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกันบ้าง เพื่อให้งานวิจัยครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ก็สามารถไปค้นงานวิจัยเก่าๆ ในอดีต (Literature reviews) ศึกษาเรื่องที่เคยมีคนทำมาแล้วในประเด็นที่เกี่ยวข้องก่อนได้ หรืออาจจะปรึกษาสมาชิกทีม และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานวิจัย
มาสู่ขั้นตอนที่สาม เมื่อเรารู้ว่าเราต้องการอะไรแล้วจึงหาวิธีการที่เหมาะสมกับหัวข้อ ประเด็นศึกษาที่เราต้องการ/สนใจ ซึ่งวิธีการวิจัย หรือ Research Methodology มีมากมาย หลายเทคนิค เช่น Online questionnaire (แบบสอบถามออนไลน์) เหมาะกับการทำงานวิจัยเชิงปริมาณ หรือ In-depth interview (การสัมภาษณ์เชิงลึก) เหมาะกับงานวิจัยเชิงคุณภาพ Observation (การสังเกตการณ์ผู้ร่วมวิจัย) ที่สามารถจะใช้กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นลูกค้า ผู้ใช้บริการ หรือนักท่องเที่ยวก็ได้ โดยข้อดีของวิธีนี้ คือ จะทำให้เราได้เห็นประสบการณ์ สีหน้า ท่าทาง การตอบสนองของผู้ใช้ ส่วน Co-creation หรือ กระบวนการให้คนมีส่วนร่วม ก็เป็นอีกวิธีวิจัยที่นิยมใช้ด้วยเช่นกัน
มาถึงจุดนี้ ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ให้เริ่มจากร่างประเด็นที่อยากรู้เป็นหัวข้อ (Topic) ในภาพรวมใหญ่ก่อน (Big picture) เพื่อวางโครงสร้างชุดคำถาม (Research structure) แล้วจึงค่อยๆ คิดลงรายละเอียดต่างๆ เป็นข้อย่อยๆ (Sub-topic) โดยชุดคำถามที่ดีควรจะมีการเรียงลำดับความคิดของผู้ตอบแบบเป็นระบบ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่วกไปวนมา และไม่ควรยาวเกินไป ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการตอบ จะสั้นหรือยาวเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการที่เลือกใช้
เมื่อทำทั้ง 4 ขั้นตอนข้างต้นแล้ว อย่าเพิ่งด่วนสรุป แล้วเริ่มวิจัย เพราะการเป็น ‘คำถามที่ดี’ นั้น ควรถูกทดสอบโดยการทดลองถามคำถามและพัฒนาชุดคำถามเสียก่อน เพื่อให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วคำถามไหน ไม่มีประโยชน์ ควรตัดออก หรือคำถามไหนที่สำคัญมากแต่เราลืมถามไปก็สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากก็เพราะในบางครั้ง จะทำให้ผู้วิจัยเองฉุกคิดว่าคำถามเหล่านั้นได้ตอบสิ่งที่เราต้องการ อยากรู้ หรือเกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเราจริงหรือไม่? คำถามของเราได้ช่วยเปิดกว้างทางความคิด ช่วยทำให้เราได้เกิดมุมมองอื่น ๆ สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเติมไหม? ซึ่งการถามคำถาม ควรจะมีทั้งคำถามปลายเปิด (Open-ended question) ที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจอะไร ทำไม อย่างไร เพราะอะไร ลงลึกถึงเนื้อหา ประเด็นต่าง ๆ และคำถามปลายปิด (Close-ended question) จะช่วยให้ยืนยัน ประเมินสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ใช่หรือไม่ เคย ไม่เคย เท่าไร เป็นต้น ซึ่งเป็นคำถามที่สะดวกต่อผู้ตอบอีกด้วย แต่ข้อเสียของคำถามปลายปิด คือ ในบางครั้ง อาจจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดทางความคิด ดังนั้นเราควรเตรียมคำถาม แล้วทดสอบให้แม่นยำก่อนจะนำไปใช้จริงทุกครั้ง
ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อแนะนำที่ทุกๆ ท่านสามารถนำไปพัฒนาเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ถามที่ดี และชี้ประเด็นให้ผู้ตอบสามารถตอบโจทย์งานวิจัยได้อย่างชัดเจน แม่นยำ หรือในบางครั้งก็สามารถเกิดประโยชน์ทั้งในมุมของผู้ตอบและผู้ถาม ให้พัฒนาองค์ความรู้หรือแนวคิดใหม่ๆ ได้ ซึ่งแม้ว่าในตอนแรกจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่หากเราใช้เวลาในการฝึกฝน สั่งสมประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง เชื่อแน่ว่าในไม่ช้า เราจะก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพได้อย่างไม่ยากเย็นแน่นอน