การที่จะออกไปถามคนว่าอยากได้อะไร เพื่อสร้างหรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นอะไรที่ยากมากๆ และย่อมไม่ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม สร้างสรรค์มาตรฐานที่มีคุณภาพใหม่ในระยะเวลาอันใกล้ได้แน่ๆ จึงต้องใช้เทคนิค Shadowing หรือการเป็นเงาตามตัวเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมดั้งเดิมในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่เป็นอยู่ ต่อจากนั้นจะออกแบบเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมเดิม หรือจะพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก
เทคนิคหนึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยนักวิจัยทำตัวเสมือน “เงาตามตัว” ของกลุ่มเป้าหมาย เฝ้าดูสังเกตพฤติกรรมตามธรรมชาติของคนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเส้นทางนั้นๆ ตลอดจนจบกระบวนการ (The value chain of user experience) เก็บรวบรวมข้อมูลการกระทำ บริบทโดยรอบ ปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ ทำเมื่อไร (When) ทำอะไร (What) ทำอย่างไร (How) และทำไมถึงทำ (Why) เพื่อค้นหา วิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูล แปลงออกมาเป็นความต้องการเชิงลึก Unmet Needs ข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาต่อไป
1. ระยะเวลาแปรผันตรงกับสิ่งที่ต้องการรู้
เทคนิคการวิจัยนี้ระยะเวลาอาจจะสั้นหรือยาวก็ได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราอยากจะรู้ เป้าหมายหัวข้อในการวิจัยกับเส้นทางประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมายนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งใจอยากจะพัฒนาตลาด ระยะเวลาในการติดตามอาจจะสั้นมากๆ เพียง 5-10 นาทีเท่านั้นสำหรับกลุ่มคนที่รีบซื้อรีบกลับ หรืออาจจะยาวถึง 30-45 นาที สำหรับกลุ่มคนที่ซื้อหลายรายการ กลับกันถ้าเปลี่ยนหัวข้อเป็นพัฒนาการบริการของห้องสมุด หรือ Shopping Mall อาจจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 15-30 นาที ไปจนถึง 4-5 ชั่วโมงเลยก็เป็นได้ ซึ่งระยะเวลาการติดตามจะแปรผันตรงกับสิ่งที่ต้องการจะรู้ในตัวกลุ่มเป้าหมายและหัวข้อวิจัย
2. นักวิจัยต้องเฝ้าดูและติดตามเท่านั้น
สิ่งสำคัญในการทำการวิจัยแบบเงาตามตัว คือ ผู้วิจัยต้องทำตัวเป็นนักเฝ้าดูติดตามเท่านั้น ไม่เข้าไปรบกวนกระบวนการระหว่างทางของคน ๆ นั้น เพราะอาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากการที่ทำให้คนรู้สึกประหม่าและปฏิบัติต่างออกไปจากเดิม (พฤติกรรมเปลี่ยน)
3. นำไปปรับใช้กับเทคนิควิธีการอื่น
เราสามารถปรับใช้การวิจัยแบบเงาตามตัวเข้ากับเทคนิคและวิธีการอื่นได้ เช่น In-depth interview สัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อพูดคุยสอบถามหาสาเหตุ หรือตอบแบบสอบถามอธิบายเหตุผล หลังจากการติดตาม
สิ่งที่เหมือนกัน คือ ทั้งสองวิธีต่างใช้ทักษะช่างสังเกตด้วยกันทั้งคู่ ต่างกันตรงที่ Shadowing หรือการเฝ้าดูติดตามจะไม่เข้าไปรบกวนพฤติกรรมของผู้ใช้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ เป็นธรรมชาติเป็นจริงที่สุด แต่ Observation การสังเกตสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ได้ หรือสังเกตอย่างเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่ทำให้เขารู้ถึงการมีตัวตนของเราเลยก็ได้