Penfill

Design Thinking

กระบวนการคิดเชิงออกแบบ

Asset 1

Design Thinking คืออะไร ทำไมคนถึงให้ความสนใจ องค์กรชั้นนำอย่าง Apple, Google, IBM ต่างพากันนำ Design Thinking เข้าไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ แม้แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Standford, Harvard, Imperial College London ก็นำ Design Thinking เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอนนักศึกษาให้ฝึกฝนทักษะการคิดเชิงออกแบบ แล้ว Design Thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบจะสามารถนำไปใช้กับอะไรได้บ้าง มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร เรามาทำความรู้จักไปพร้อมกันได้ในบทความนี้


ความสำคัญของ Design Thinking

ในหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ได้รับการพูดถึงอย่างมาก หลายองค์กรต่างพากันให้ความสนใจ จัดฝึกอบรมให้กับพนักงาน บริษัทเปิดรับพนักงานที่มีทักษะ Design Thinking กันมากขึ้น สินค้าที่ผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดีได้รับความสนใจ มีกระแสตอบรับจากผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งการออกแบบในปัจจุบันไปไกลมากกว่าความสวยงามภายนอก แต่รวมไปถึงความสามารถในการตอบโจทย์การใช้งาน นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความต้องการ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้บริโภค ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น สบายขึ้น ในจุดนี้เองที่ Design Thinking เข้ามามีบทบาทอย่างมาก

การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน คือ

  1. แนวทางที่เหนือกว่า (Superior Solutions)
  2. ต้นทุนและความเสี่ยงต่ำ (Lower Risks and Costs of Change
  3. คนในองค์กรร่วมด้วย (Employee Buy-In)

ซึ่งการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันทั้ง 3 ปัจจัยให้เป็นไปได้ด้วยกระบวนการทำงานที่เน้นทำความเข้าใจคน แก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนอย่างเป็นระบบ สร้างการมีส่วนร่วม เป็นรากฐานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวในทางที่ดีขึ้น ช่วยให้องค์กรปรับตัวไปกับการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

“Design thinking means fundamentally changing

how you develop your products, services, and organizations.”

Design Thinking Journey
Image courtesy of Unsplash.com


ทำความรู้จักกับ “Design Thinking”

How Might We

Define Design Thinking

การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นแนวคิดที่ยึดหลักผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User-Centered Design) ทำความเข้าใจผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ ระบบที่ตอบสนองความต้องการและช่วยแก้ปัญหาของผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง ส่งเสริมให้เกิดแนวทางธุรกิจใหม่ ๆ และกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร โดยคำถามสำคัญเริ่มจาก “คนต้องการอะไร?”

แนวคิดเชิงออกแบบ มีวิธีการคิดที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ใคร ๆ ก็สามารถฝึกฝนทักษะนี้ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักออกแบบหรือดีไซน์เนอร์ เพียงแค่ฝึกฝนเทคนิคการคิดเชิงสร้างสรรค์ การตั้งคำถาม และการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้ในพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า ใช้ทำงานร่วมกับคนภายในองค์กรและสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ เพราะการคิดเชิงออกแบบมีหลักการทำงานที่เน้นการปฏิบัติจริง อาศัยการทำความเข้าใจ เรียนรู้ ทำซ้ำ แก้ไข และพัฒนาไอเดียใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการ สามารถทำขึ้นได้จริง และมีความยั่งยืนในระยะยาว

Design Thinking Approach
Image courtesy of PenFill

หลักการคิดเชิงออกแบบ เป็นการผสมผสานแนวคิดที่สำคัญ 3 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่

  • Desirability ความต้องการ:
    ความต้องการในที่นี้ มองรวมไปถึงของคน องค์กร และสิ่งแวดล้อม
  • Feasibility ความเป็นไปได้:
    โดยมองทั้งเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ความคุ้มค่าในการลงทุน และคาดคะเนไปถึงแนวโน้มเทรนด์ต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง
  • Viability ความยั่งยืน:
    แนวทางแก้ไขปัญหานั้น ๆ มีความยั่งยืน ผลิตภัณฑ์/บริการที่สร้างขึ้นมีคุณค่าให้กับผู้ใช้อย่างแท้จริง ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ในระยะยาว หรือก่อเกิดเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้


ตัวอย่างการนำ Design Thinking ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ

พอมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจเริ่มสงสัยแล้ว Design Thinking สามารถนำไปใช้กับอะไรได้บ้าง? เรามาดูตัวอย่างธุรกิจที่นำ Design Thinking ไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ ไปจนถึงโมเดลธุรกิจใหม่ กัน

Braun & Oral-B Electric Toothbrush Design Thinking
Image courtesy of https://www.oralb.co.uk/en-gb

Braun & Oral-B Electric Toothbrush
Brushing experience

Key Insight:

แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากเยอรมนี Braun จับมือกับแบรนด์แปรงสีฟัน Oral-B พัฒนาแปรงสีฟันไฟฟ้าร่วมกัน โดยเริ่มต้นตั้งใจอยากจะเป็นแปรงสีฟันสุดไฮเทคที่ให้ข้อมูลการแปรงฟันเชิงลึกของผู้ใช้คนนั้น ๆ ซึ่งในระหว่างการพัฒนา ทีมวิจัยค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนมักจะกังวลว่าจะแปรงฟันไม่สะอาด แปรงไม่ถูกต้อง

Action:

แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากเยอรมนี Braun จับมือกับแบรนด์แปรงสีฟัน Oral-B พัฒนาแปรงสีฟันไฟฟ้าร่วมกัน โดยเริ่มต้นตั้งใจอยากจะเป็นแปรงสีฟันสุดไฮเทคที่ให้ข้อมูลการแปรงฟันเชิงลึกของผู้ใช้คนนั้น ๆ ซึ่งในระหว่างการพัฒนา ทีมวิจัยค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนมักจะกังวลว่าจะแปรงฟันไม่สะอาด แปรงไม่ถูกต้อง

Pill Pack Design Thinking
Image courtesy of PillPack

Pill Pack
A prescription home-delivery system

Key Insight:

สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ การติดตามชื่อยา ชนิดยา และเวลาที่ต้องรับประทานนับเป็นเรื่องท้าทายอย่างหนึ่ง ร้านขายยาออนไลน์ Pill Pack จึงคว้าโอกาสนี้ เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นการสร้างประสบการณ์รับประทานยาที่ง่ายมากยิ่งขึ้น

Action:

Pill Pack สร้างบริการส่งยาถึงบ้าน (Prescription Home-Delivery System)โดยจัดยาตามวันเวลาที่ต้องกินมาให้แล้วเรียบร้อย พร้อมระบุชื่อเจ้าของยา ชื่อยา ปริมาณ วัน เวลาให้ง่ายต่อการหยิบกิน

ในปี 2014 Pill Pack ถูกจัดเป็นหนึ่งในบริษัทที่สร้างนวัตกรรมที่ดีสุด โดย Time Magazine และปี 2018 Amazon ได้เข้าซื้อ Pill Pack ไปในราคาหนึ่งพันล้านดอลลาร์

Uber Eats Design Thinking
Image courtesy of Unsplash

Uber Eats
Redefining food delivery

Key Insight:

Uber Eats มีภารกิจของบริษัท (Company’s Mission) คือ ‘Make good eating easy and accessible for everyone in all places.’ ทำให้การกินง่ายและเข้าถึงได้สำหรับทุกคนครบจบในที่เดียว ซึ่ง Design Thinking ช่วยทำให้ Uber Eats พิชิตภารกิจที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ

Action:

อูเบอร์ (Uber) รู้ว่า การจะสร้างแอปที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในแต่ละเมือง แต่ละประเทศ ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจประสบการณ์ของคนทำร้านอาหาร คนส่งสินค้า และลูกค้า ดังนั้น Uber Eats จึงใช้กลยุทธ์นำ Design Thinking เข้ามาศึกษาลงพื้นที่แต่ละตลาด สัมภาษณ์ทำความเข้าใจผู้ใช้แอป สร้างต้นแบบไปทดสอบ สังเกตการใช้งาน เพื่อหาแนวทางที่ใช่มากที่สุดในการพัฒนาแอป

จากการเก็บข้อมูลและทดสอบการใช้แอป ทำให้ Uber Eats พัฒนาฟีเจอร์ (Feature) ‘Most Popular Items’ และอีกหลายฟีเจอร์ตามมา เพื่อยกระดับประสบการณ์ Food Delivery ของผู้คนในหลาย ๆ ประเทศ

KBank Design Thinking
Image courtesy of Make by KBank

Make by KBank
Reimagine Banking Experience

Key Insight:

KBTG ต้องการพัฒนาประสบการณ์ใช้แอปธนาคารของลูกค้า พร้อมกับสร้างความแตกต่างจากแอปธนาคารทั่วไป จึงนำ Design Thinking เข้าไปปรับใช้ตั้งแต่ส่วนกลยุทธ์ ฝั่งพัฒนาธุรกิจ ไปจนถึงฝั่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกิดเป็นแอป Make by KBank

เริ่มจากการตั้งคำถาม เช่นเราจะสามารถมอบประสบการณ์ใหม่ ฟีเจอร์ใหม่ให้กับผู้ใช้อย่างไรได้บ้างและใครคือกลุ่มผู้ใช้เป้าหมายและดำเนินไปตามกระบวนการของ Design Thinking

โดยฝั่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และเครื่องมืออย่าง Activity Cards เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรม กิจวัตรในแต่ะวัน ความต้องการ และการจัดการทางการเงินของกลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์ แล้วได้พบสิ่งที่น่าสนใจว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยหลายรายมีการแยกบัญชีเก็บออมและบัญชีสำหรับใช้จ่าย จึงนำไปสู่การพัฒนาแอปที่ตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า

Action:

จากข้อมูลวิจัยทำให้ผู้พัฒนาแอป Make by KBank นำไปสร้างเป็นฟีเจอร์ ‘Cloud Pocket’ หลังจากนั้นก็มีฟีเจอร์อื่น ๆ ตามมาอีกเพียบ เช่น ‘Pop Pay’, ‘Chat Banking’, และ ‘Expense Summary’ และยังคงใช้ User Journey และ Usability Testing ในการพัฒนาแอปอยู่เสมอเพื่อสร้างประสบการณ์ใช้แอปธนาคารให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป


กระบวนการคิดเชิงออกแบบ 5 ขั้นตอน

Design Thinking Process
Image courtesy of PenFill

กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นกระบวนการที่เน้นการทำความเข้าใจผู้ใช้ เรียนรู้จากการทดลองและทำซ้ำ (Iterative) จึงไม่ได้เป็นขั้นตอนที่จะดำเนินไปเป็นเส้นตรง แต่สามารถย้อนกลับได้เมื่อพบสิ่งน่าใหม่ที่สนใจ เพื่อนำกลับไปพัฒนาแก้ปัญหา (Non-Linear Process) โดยมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้

แนวคิดเชิงออกแบบ มีวิธีการคิดที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ใคร ๆ ก็สามารถฝึกฝนทักษะนี้ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักออกแบบหรือดีไซน์เนอร์ เพียงแค่ฝึกฝนเทคนิคการคิดเชิงสร้างสรรค์ การตั้งคำถาม และการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้ในพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า ใช้ทำงานร่วมกับคนภายในองค์กรและสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ เพราะการคิดเชิงออกแบบมีหลักการทำงานที่เน้นการปฏิบัติจริง อาศัยการทำความเข้าใจ เรียนรู้ ทำซ้ำ แก้ไข และพัฒนาไอเดียใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการ สามารถทำขึ้นได้จริง และมีความยั่งยืนในระยะยาว

1. Empathize ทำความเข้าใจ

เริ่มต้นจากทำความเข้าใจความท้าทายของธุรกิจ (Business Challenge) สิ่งที่กำลังเผชิญและสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อจะช่วยทำให้เราพอทราบว่าควรจะต้องทำอะไรต่อไป ต้องศึกษาเรื่องอะไร ทำความเข้าใจลูกค้ากลุ่มไหนให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำความเข้าใจ (Empathize) คือ การค้นหาสิ่งที่คนต้องการจริง ๆ เข้าใจคนอย่างลึกซึ้ง ทั้งความคิด พฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึก และสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการเปิดกว้าง เป็นกลาง ไม่มีอคติ และไม่ได้ตั้งสมมติฐานที่อาจทำให้ได้รับข้อมูลบิดเบือนจากกลุ่มเป้าหมาย

 

ซึ่งการทำความเข้าใจผู้ใช้สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • Observation การสังเกต
  • Interview การสัมภาษณ์
  • Engagement การมีส่วนร่วม
  • Immersion การฝังตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง

ตัวอย่างเครื่องมือช่วยในการทำความเข้าใจผู้ใช้

  • Empathy Map แผนผังเข้าใจลูกค้า
  • Customer Persona แบบจำลองข้อมูลกลุ่มลูกค้า
  • User Experience Journey เส้นทางประสบการณ์ของผู้ใช้

2. Define ระบุปัญหา

เมื่อเราเข้าใจลูกค้าอย่างละเอียดถ่องแท้แล้ว ขั้นตอนที่ 2 จะเป็นการระบุปัญหา พิจารณาความสำคัญและเพราะอะไรสิ่งนี้ต้องได้รับการแก้ไข ด้วยการตั้งคำถาม หรือตั้ง Problem Statement

วิธีการของ Design Thinking จะตั้ง Statement ด้วย “How Might We” (HMW) ซึ่งเป็นการเน้นใช้ความคิดสร้างสรรค์มาแก้ปัญหา (Creative Problem-Solving) โดยแต่ละคำมีความหมายดังนี้

  • “How”:
    จะสามารถแก้ไขความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง และจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง
  • “Might”:
    แนวคิดไอเดียอาจจะมีทั้งที่ได้ผลและไม่ได้ผล ซึ่งสุดท้ายเราจะได้เรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์
  • “We”:
    เรากำลังร่วมมือกันเพื่อค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์กัน

สูตรการตั้ง Problem Statement ด้วย “How Might We” แบบง่าย ๆ

How Might We (เราจะทำอย่างไร)
+ สิ่งที่เราต้องการจะทำหรือนำเสนอ + ให้กับใคร (กลุ่มเป้าหมาย) + เพื่ออะไร

ตัวอย่างเช่น

  • เราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีประสบการณ์ใช้แอปพลิเคชั่นได้ง่ายขึ้น และลื่นไหล
  • เราจะสามารถนำเสนอมื้ออาหารสุขภาพเป็นสิ่งที่น่าสนใจของกลุ่มวัยรุ่นอายุ 13-18 ปีอย่างไรได้บ้าง เพื่อสร้างนิสัยการดูแลสุขภาพในระยะยาว
  • เราจะพัฒนาเว็บไซต์ให้ลูกค้าค้นหาและตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้นอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดการซื้ออย่างต่อเนื่อง

3. Ideate สร้างสรรค์ไอเดีย

ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมาทำงานให้เต็มที่ ลองจินตนาการ นึกถึงแนวทางที่จะสามารถตอบโจทย์ได้ ด้วยการคิดแบบ Divergent Thinking ระดมสมอง ปลดปล่อยไอเดียออกมาให้มากที่สุด โดยยังไม่ต้องคิดถึงข้อจำกัดใด ๆ แล้วค่อยมาคัดเลือกไอเดียที่ควรไปต่อด้วยการคิดแบบ Convergent Thinking นึกถึงความเป็นไปได้ ข้อจำกัดต่าง ๆ

4. Prototype สร้างชิ้นงานต้นแบบ

สร้างไอเดียให้จับต้องได้ เพื่อจะได้รู้ว่าไอเดียนี้จะเวิร์กหรือไม่ โดยตัวต้นแบบสามารถทำได้ตั้งแต่ตัดกระดาษ ต่อกล่อง วาดรูปใส่ลงไป เพื่อดูรูปร่างหน้าตาที่น่าจะเป็นคร่าว ๆ หรือจะต่อเลโก้ดูระบบการทำงานคร่าว ๆ ไปจนถึงการขึ้นชิ้นงานด้วยวัสดุที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดก็ยังได้ เพื่อนำชิ้นงานต้นแบบไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายในขั้นตอนถัดไป

5. Test ทดสอบ

การทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้จริง เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยทำให้เราได้เรียนรู้ความรู้สึก การตอบสนอง ความคิดเห็นของผู้ใช้จริงต่องานออกแบบของเรา และนำไปพัฒนางานออกแบบให้ดีมากขึ้น เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยง ลดต้นทุนทางธุรกิจ และช่วยให้ดำเนินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

โดยการทดสอบควรจะต้องมีการวางแผนการทดสอบ จะให้ผู้ใช้ทำอะไรบ้าง มีสิ่งที่ต้องการทดสอบกี่อย่าง และจะถามคำถามผู้ใช้อะไรบ้างเพื่อสอบถามความคิดเห็นการใช้งาน ซึ่งทางที่ดีควรจะใช้วิธีการนำตัวทดสอบไปให้ผู้ใช้ลองใช้เลย โดยไม่บอก ไม่แนะนำอะไร เพื่อสังเกตวิธีการตอบสนอง การใช้จริง นอกจากนั้นถ้าเป็นไปได้ควรจะสร้างตัวต้นแบบหลาย ๆ ตัวเพื่อให้ผู้ใช้ได้ทดลองและเปรียบเทียบหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุด


เมื่อมาถึงตรงนี้ หลายท่านน่าจะพอเข้าใจกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking กันแล้ว หวังว่าจะสามารถนำไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจกันได้ หรือ ถ้าองค์กรใดสนใจอยากจะฝึกฝนทักษะ Design Thinking ก็สามารถติดต่อเพนฟิล ให้เราช่วยจัดอบรมเวิร์กชอป (Design Thinking Workshop) ให้ได้เลย